ซอฟต์แวร์

ค่าเงินบาทแข็งค่า 33.65 บาท เปิดปัจจัยระหว่างวันมีผลต่อตลาดเงิน

Feb 19, 2025 IDOPRESS
ค่าเงินบาท 19 ก.พ. เปิดตลาดแตะระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จับตาปัจจัยระหว่างวันมีผลต่อตลาดเงินมากแค่ไหน

ค่าเงินบาท 19 ก.พ. เปิดตลาดแตะระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จับตาปัจจัยระหว่างวันมีผลต่อตลาดเงินมากแค่ไหน

วันที่ 19 ก.พ. นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.61-33.73 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าประเภทรถยนต์ Semiconductor และยา ในช่วงต้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับ รัสเซีย เพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ก็มีส่วนหนุนเงินดอลลาร์ ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินยูโร (EUR) ทว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่ล่าสุดขู่ขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าประเภทรถยนต์ Semiconductor และยา ขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ส่งสัญญาณสนับสนุนการชะลอลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันบรรดาหุ้นเทคฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.32% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมทหารและการบิน ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า บรรดาชาติในยุโรปอาจจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ในส่วนตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาล Trump 2.0 ล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เหลือ 40% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.55% อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ ยังคงเป็น การรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ หรือ เน้น Buy on Dip

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Up หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันสกุลเงินยุโรป อย่างเงินยูโร (EUR) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.8-107.2 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงหนุนความต้องการถือทองคำ หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นราว +1% สู่โซน 2,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด หลังรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ของอังกฤษ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาส BOE ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้ เหลือเพียง 15% (หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยอีกราว 2 ครั้ง)

ส่วนในฝั่งเอเชียแปซิฟิก ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) โดยบรรดานักวิเคราะห์และผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBNZ อาจลดดอกเบี้ยลง 50bps สู่ระดับ 3.75% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้ แม้จะมีแรงกดดันจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยรวมเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ที่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินบาทได้พอสมควร โดยหากราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงต่อเนื่อง เช่น ในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (จับตาการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน) หรือ แนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ก็อาจกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่โดยรวม เราประเมินว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทยได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้